ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบบี
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมากที่สุด โดยเมื่อตับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแล้วจะทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับและทำให้เซลล์ตับเสียหาย หากเป็นเรื้อรังจะนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ค่ะ เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีนี้สามารถติดต่อทางเลือด น้ำเชื้อ และสารคัดหลั่งอย่างอื่น ดังนั้น จึงสามารถติดต่อผ่านทางเข็มฉีดยา การฝังเข็มโดยใช้เข็มร่วมกัน ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกขณะคลอด (ผู้ป่วยยิ่งอายุน้อยเท่าไหร่ ยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นที่ตับจะถูกทำลายมาก และกลายเป็นมะเร็งตับเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยค่ะ) หรือทางเพศสัมพันธ์ การจูบกันโดยที่อีกฝ่ายมีแผลในช่องปากก็สามารถติดได้นะคะ
โรคไวรัสตับอักเสบบี มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง และจะแสดงอาการของโรคดังนี้ค่ะ
- แบบเฉียบพลัน จะเริ่มมีอาการภายใน 1-4 เดือนหลังติดเชื้อ โดยจะมีไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง มีผื่นตามผิวหนัง ปวดข้อ ปวดท้องใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย โดยส่วนใหญ่ อาการของผู้ป่วยแบบเฉียบพลันจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสได้ แต่ผู้ป่วยอีกราวๆ 5-10% ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้หมด ทำให้กลายเป็นผู้ป่วยแบบเรื้อรัง
- แบบเรื้อรัง กลุ่มนี้จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เป็นพาหะ และ กลุ่มผู้ป่วย โดยที่กลุ่มพาหะนี้จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ มีค่าการทำงานของตับเป็นปกติดี แต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ส่วนผู้ป่วยเรื้อรัง จะมีค่าการทำงานของตับผิดปกติไปมาก จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ตรวจเช็กการทำงานของตับเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง อาจจะต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่ง (ในบางรายอาจจะไม่จำเป็นต้องคุมด้วยยา แล้วแต่กรณีค่ะ) และต้องทำตามที่แพทย์แนะนำเพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้ตับเสียหายมากขึ้น
ขอบคุณภาพประกอบจาก neutron.rmutphysics.com, ascannotdo.wordpress.com, si.mahidol.ac.th, 4life-science.com, krabork.com, chlorophyll.tht.in
www.decembertown.com // Healthy Society สังคมสุขภาพแนวใหม่ของคนไทย
You must be logged in to post a comment Login