Don't miss

อาการแพ้ผงชูรส เป็นยังไง? มีวิธีแก้ยังไง?….มาดูกันนน!!!

By on September 12, 2018
ผงชูรส

ผงชูรส

ผงชูรส มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า โมโนโซเดียมกลูตาเมต (Monosodium glutamate : MSG) เป็นวัตถุเจือปนอาหาร (Food additive) ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โมโนโซเดียมกลูตาเมตจัดว่าเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร และองค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ (Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives : JECFA) ได้มีการทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัยในการบริโภคโมโนโซเดียมกลูตาเมตจากงานวิจัยต่างๆ ทั่วโลกได้ข้อสรุปว่า โมโนโซเดียมกลูตาเมตเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ไม่จำเป็นต้องกำหนดปริมาณการบริโภคต่อวัน (Acceptable Daily Intake : ADI) เนื่องจากโมโนโซเดียมกลูตาเมตไม่ทำให้เกิดการสะสมในร่างกายและมีความปลอดภัย ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขจึงอนุญาตให้ใช้ใส่ในอาหารที่ผลิตหรือปรุงเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยได้

ผงชูรสมีที่มาโดยเริ่มต้นจากในปี พ.ศ. 2451 ศ.ดร.คิคุนาเอะ อิเคดะ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียล ประเทศญี่ปุ่น ค้นพบว่าผลึกสีน้ำตาลที่สกัดจากสาหร่ายทะเลที่ชื่อว่าคอมบุ คือกรดกลูตามิกและเมื่อลองชิมพบว่ามีรสใกล้เคียงกับซุปสาหร่ายทะเล ซึ่งเป็นอาหารประจำวันของชาวญี่ปุ่นที่บริโภคกันมาหลายร้อยปี จึงตั้งชื่อรสชาติของกรดกลูตามิกที่สกัดได้ว่า”อูมามิ”หลังจากนั้นได้จดสิทธิบัตรการผลิตกรดกลูตามิกในปริมาณมากๆ อันเป็นที่มาของอุตสาหกรรมผงชูรสในปัจจุบัน กระบวนการผลิตในปัจจุบันเริ่มจากใช้กระบวนการย่อยสลายแป้งมันสำปะหลังทางเคมี โดยใช้กรดกำมะถันหรือกรดซัลฟูริกที่อุณหภูมิ 130 องศาเซลเซียสจนได้สารละลายน้ำตาลกลูโคส จากนั้นผ่านกระบวนการหมักโดยใช้ยูเรียและเชื้อจุลินทรีย์จนได้แอมโมเนียกลูตาเมตส่งผ่านกระบวนการทางเคมีต่อโดยใช้กรดเกลือหรือกรดไฮโดรคลอริกจนได้เป็นกรดกลูตามิกและผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีโดยใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์จะได้สารละลายผงชูรสหยาบ นำไปผ่านกระบวนการฟอกสีโดยใช้สารฟอกสีจนเป็นสารละลายผงชูรสใสแล้วผ่านขั้นตอนสุดท้ายด้วยการทำให้ตกผลึกจนกลายเป็นผลึกผงชูรส

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบปัญหาในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอาการแพ้สิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อากาศ หรือแม้แต่สัตว์ตัวเล็กๆ กัดหรือต่อยก็ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ส่วนจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหนก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน

ผงชูรส

ผงชูรส

อย่างเช่นหลายๆคน มีอาการแพ้ผงชูรสที่ใส่ในอาหาร ซึ่งมักจะเกิดภายหลังที่รับประทานเข้าไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง (อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้) ซึ่งอาการแพ้ผงชูรส เท่าที่พบ มีตั้งแต่อาการเบาๆ ไม่อันตราย ไปจนถึงขั้นรุนแรง ได้แก่

  • เป็นลมพิษ บวมหรือผื่นขึ้น
  • มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล
  • ผิวแดง หน้าแดง ตัวแดงผิดปกติ
  • มีอาการหน้าบวม
  • คอบวม (หลอดอาหารหรือหลอดลมบวม)
  • เกิดอาการชาหรือแสบหรือบวมที่บริเวณปากและลิ้น
  • เกิดอาการชาตามร่างกายหรือผิวหนัง
  • มีความรู้สึกร้อนวูบวาบบริเวณใบหน้าหรือตามร่างกายร่วมด้วย
  • เหงื่อออกมากหรือเหงื่อแตกพลั่ก
  • กระหายน้ำอย่างรุนแรง
  • มีอาการปวดหัว
  • มีอาการปวดท้อง
  • รู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • บางคนอาจมีอาการเจ็บแสบร้อนหรือรู้สึกแน่นหน้าอก
  • มีอาการหายใจติดขัด
  • ชีพจรเต้นผิดปกติหรือเต้นเร็วมาก
  • กรณีรุนแรงที่สุดคือปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) (แพ้อย่างเฉียบพลัน หายใจไม่ออก หมดสติ หัวใจล้มเหลวและอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้)

ซึ่งอาการเหล่านี้ก็อาจแตกต่างกันไป แล้วแต่ความหนักเบาและปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายแต่ละคนและไม่จำเป็นต้องเป็นครบทุกอาการ อาจเป็นแค่อาการใดอาการหนึ่งก็ได้ ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยทั่วไปแล้วจะสามารถหายได้เองหรือจะใช้วิธีดื่มน้ำมากหน่อย เพื่อให้ร่างกายขับปัสสาวะออกมา โดยนอกจากน้ำเปล่าแล้วก็อาจดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมรวมทั้งข้าวกล้องต้มหรือขนมปังโฮลวีทก็จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ให้ดีขึ้นได้ (แต่อย่าให้ถึงขั้นมากเกินขนาด เพราะจะกลายเป็นโทษได้เช่นกันนะคะ)

แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น เจ็บหรือแน่นหน้าอก คอบวมตีบ หายใจติดขัด หรือหายใจไม่ออก หรือเกิดอาการแพ้เฉียบพลัน ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ดังนั้น เมื่อรู้ตัวว่ามีอาการแพ้ผงชูรส ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีการใส่ผงชูรสลงไปด้วยไม่มากก็น้อยหากเป็นไปได้ ก็ต้องกำชับให้ดีว่าอย่าใส่หรือหากทำได้ ก็ควรทำจากบ้านไปรับประทานเองก็จะเป็นหนทางป้องกันที่ดีที่สุดค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก

http://www.plerne.com

 

You must be logged in to post a comment Login