บัวหิมะ…มีกี่ประเภทกันแน่หนอ?
บัวหิมะที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันมากที่สุด น่าจะเป็น “ครีมบัวหิมะ” ซึ่งเป็นครีมเนื้อสีขาว ให้สัมผัสเย็นๆ ทันทีที่ทาลงไป มีสรรพคุณดังในทางช่วยรักษาอาการผื่นคัน ผิวหนังพุพอง ปวดแสบปวดร้อนจากการโดนน้ำร้อนลวกหรือจับของร้อน รักษาโรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน ฮ่องกงฟุต เริม รักษาแผลต่างๆ ได้ดี
ส่วนอีกประเภทที่คนก็เรียกว่าบัวหิมะเช่นกัน จนสับสนกันไปว่าน่าจะเป็นชนิดเดียวกันกับที่อยู่ในครีมบัวหิมะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลย บัวหิมะตัวนี้จัดอยู่ในประเภทเดียวกับเห็ดและยีสต์ เป็นน้ำหมักบัวหิมะหรือบางคนอาจจะเรียกว่า “บัวหิมะทิเบต (Kefir)” โดยการนำหัวเชื้อมาหมักกับน้ำนมหรือน้ำเต้าหู้ในภาชนะสะอาด ควบคุมอุณหภูมิเล็กน้อย จนเกิดเป็นก้อนเมือกสีขาวหรือเหลืองอ่อนๆ รูปร่างคล้ายดอกกะหล่ำ ซึ่งอุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายถึง 41 ชนิดที่จะช่วยปรับสมดุลในระบบทางเดินอาหารและระบบการย่อยอาหาร นอกจากนั้นยังนิยมนำมาพอกหน้าเพื่อลดสิวอีกด้วย
ถัดมาคือบัวหิมะที่เป็นดอกไม้กันบ้าง “ดอกบัวหิมะ (Saussurea หรือ Snow Lotus)” เป็นพืชที่เจริญเติบโตในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,000-4,000 เมตรขึ้นไป ซึ่งมีมีหิมะปกคลุมทั่วภูเขาอยู่เสมอแม้จะเป็นฤดูร้อนก็ตาม ดอกบัวหิมะเติบโตค่อนข้างช้า แต่ทนทานมาก โดยปกติแล้ว เปอร์เซ็นต์การอยู่รอดของเมล็ดบัวหิมะมีเพียง 5% เท่านั้นที่จะสามารถเติบโตจนออกดอกได้ และต้องใช้เวลาอีกถึง 3 ปีกว่าเก็บไปใช้ได้ ดอกบัวหิมะมีสีขาวหรือเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม และจะบานช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของทุกปี สรรพคุณของดอกบัวหิมะที่มักเป็นหนึ่งในตัวยาสำคัญของยาจีนโบราณ มีดังนี้…ช่วยขับพิษตกค้างในร่างกาย ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงไต ช่วยแก้อาการข้ออักเสบ ช่วยปรับสมดุลให้แก่ระบบต่างๆ ของร่างกาย มีฤทธิ์เป็นยาเย็น
และบัวหิมะประเภทสุดท้ายเป็น “หัวบัวหิมะ (Yacon)” ค่ะ ลักษณะหัวบัวหิมะจะคล้ายๆ หัวมันเทศ เนื้อฉ่ำน้ำ รสชาติของเนื้อในจะหวานๆ คล้ายพวกแห้วหรือมันแกว จึงนิยมนำมารับประทานสด ให้แคลอรีต่ำ เหมาะแก่การรับประทานเพื่อควบคุมน้ำหนัก ลดระดับความดันโลหิตสูง ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันมะเร็ง บำรุงหัวใจ ช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ
ทีนี้แฟนๆ December ก็คงจะเคลียร์ และหายคาใจกับบัวหิมะสารพัดชนิดกันแล้วนะคะ ต่อไปเวลาจะเลือกซื้อตัวไหนมาใช้จะได้ใช้ให้ถูกต้องตามคุณสมบัติและสรรพคุณที่แท้จริงของแต่ละชนิดกันไป ไม่สับสนกันแล้วล่ะค่าาาา
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก frynn.com
ขอบคุณภาพประกอบจาก qhnews.com, manager.co.th, natui.com.au, chotchuang.com, bloggang.com, solkin31.wordpress.com, thaimtb.com
www.decembertown.com // Healthy Society สังคมสุขภาพแนวใหม่ของคนไทย
You must be logged in to post a comment Login